วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความสำคัญของการใช้ลมในการเป่าแคน

           ความสำคัญของการใช้ลมในการเป่าแคน

             การฝึกใช้ลมในการเป่าแคน  เป็นการบังคับทิศทางและน้ำหนักของลมที่เป่าเข้าหรือดูดออกจากรูเป่าของเต้าแคน โดยใช้อวัยวะต่างๆ เช่น  ริมฝีปาก  ลิ้น และฟัน  ทั้งนี้เพื่อให้เสียงแคนมีจังหวะหนักหรือเบาตลอดจนมีเสียงสั้นหรือเสียงยาวได้ตามต้องการ  จึงกล่าวได้ว่าเสียงแคนจะไพเราะหรือไม่เพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของลมที่เป่าเข้าหรือดูดออก ดังนั้นการใช้ลมเป่าแคนที่ถูกวิธีจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดอันดับแรกที่ผู้เป่าแคนทุกคนจะต้องฝึกให้ได้ จึงจะนำไปสู่การสร้างสรรค์เสียงแคนให้มีความไพเราะน่าฟังในการฝึกขั้นต่อไปได้
           จากการสังเกตการณ์ฝึกเป่าแคนของเด็กและเยาวชนในปัจจุบันเห็นได้ว่าถึงแม้จะมีการรณรงค์ ส่งเสริม และอนุรักษ์วัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านอีสานในสถานศึกษา (ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ตลอดทั้งผู้สนใจทั่วไปอย่างกว้างขวางก็ตาม ยังปรากฏว่าเด็กและเยาวชนหรือผู้สนใจดังกล่าวที่มีความสามารถในการเป่าแคนให้ได้เสียงแคนที่มีความไพเราะจริงๆ นั้นยังมีน้อย  เสียงแคนไม่ไพเราะเท่าที่ควร ส่วนใหญ่เป่าตามโน้ตทำนองได้ แต่เสียงแคนมีจังหวะเบาไม่หนักแน่น  เสียงแคนไม่กระชับ  ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดพลาดของการฝึกในระยะเริ่มแรก คือ การฝึกใช้ลมเป่าที่ไม่ถูกวิธี มีการแบ่งจังหวะลมเป่าที่ไม่ถูกต้องจนติดเป็นนิสัยที่แก้ไขได้ยาก จึงกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเป่าแคนไม่ไพเราะ

                ดังนั้นเพื่อเป็นการฝึกปฏิบัติที่ถูกวิธีจนติดเป็นนิสัย  อันดับแรก (โดยเฉพาะผู้เริ่มฝึกเป่าแคนเบื้องต้น)จะต้องฝึกการเป่าลมเข้าและดูดลมออกให้ถูกวิธีก่อน เมื่อสามารถควบคุมทิศทางและจังหวะในการเป่าลมเข้าหรือดูดลมออกได้ดีแล้ว จึงจะนำไปสู่การเป่าแคนที่ไพเราะได้  ซึ่งการใช้ลมเป่านั้นมีหลายลักษณะหรือหลายรูปแบบที่ผู้ฝึกเป่าจะต้องเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ  เช่น การฝึกเป่าแบบใช้ลมยาวๆ  การใช้ลมสั้นๆ(โดยการแบ่งจังหวะลมเป็นชาวงสั้นๆ) ฝึกเป่าให้มีเสียงหนักเสียงเบา  นอกจากนี้ยังมีวิธีการฝึกเป่าให้เสียงแคนมีลักษณะแตกต่างกันหลายๆ แบบ  เช่น  การเป่าผ่อน  เป่าตัดลม  เป่าสะบัด และเป่าอ้อน เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในการปฏิบัติ เราจึงควรทบทวนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีใช้ลมเป่าตามลำดับ ดังนี้
            การเป่าแคน  คำว่า “ การเป่าแคน” เป็นกิริยาการกระทำสองลักษณะที่ทำให้เกิดเป็นเสียงแคน คือ “การเป่า” เป็นการเป่าลมผ่านทางรูเป่าเข้าไปในเต้าแคน เมื่อลมผ่านลิ้นแคนเข้าไปในกู่แคนก็จะเกิดการสั่นสะเทือนแล้วเกิดเสียงดัง ส่วน“การดูด”เป็นการดูดลมกลับออกมาจากเต้าแคน(ดูดกลับคืน) ขณะที่ลมผ่านลิ้นแคนกลับออกมาก็จะเกิดการสั่นสะเทือนแล้วเกิดเสียงดังเช่นเดียวกับการเป่า ดังนั้นทั้งการเป่าลมเข้าและดูดลมออกที่ทำให้เกิดเป็นเสียงแคนจึงเรียกรวมกันว่า “ การเป่าแคน” ซึ่งโดยปกติทั้งการเป่าและการดูดจะเกิดขึ้นพร้อมกันกับการหายใจของผู้เป่า คือ ขณะที่หายใจออกจะเป็นการเป่าลมเข้าไปในเต้าแคน และขณะที่หายใจเข้าจะเป็นการดูดลมออกจากเต้าแคน ทำสลับกันไปเช่นนี้โดยอัตโนมัติตามช่วงเวลาการหายใจเข้าและหายใจออก จะเริ่มต้นด้วยการเป่าลมเข้าหรือดูดลมออกก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้เป่าเป็นสำคัญ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น