วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

ประวัติความเป็นมาของเครื่องดนตรีแคน



บทที่ 

เรื่อง ประวัติความเป็นมาของแคน





            แคน  เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก สันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี ดังปรากฏหลักฐานจากการขุดค้นซากแคนในชั้นหินอายุกว่า 2,000 ปีในมณฑลยูนนานของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน   และการขุดค้นทางโบราณคดี ที่เมืองดองซองริมแม่น้ำซองมา ในจังหวัดถั่นหัวประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้ค้นพบขวานสำริดจำหลักเป็นรูปคนเป่าแคนน้ำเต้าอายุประมาณ 3,000 ปี
            คนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรู้จักเล่นดนตรีประเภทแคนมานานแล้ว  โดยนำไปใช้ประกอบการละเล่น การแสดงหมอลำ งานประเพณี พิธีกรรม  ขบวนแห่ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันก็ยังนิยมเล่นอยู่ทั่วไป  และได้มีการพัฒนารูปแบบของแคนให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันมีแคนหลายชนิด  เช่น  แคนหก แคนเจ็ด  แคนแปด  แคนเก้า  และแคนสิบ  แต่ที่นิยมใช้มากที่สุดคือแคนแปด
            เพลงแคน แคนเป็นเครื่องดนตรีที่สามารถนำไปใช้บรรเลงได้ทั้งเพลงไทยเดิม เพลงไทยสากล และเพลงลูกทุ่ง และเมื่อนำมาใช้บรรเลงทำนองของเพลงพื้นบ้านอีสานเรียกว่า ลายแคนดังนั้นคำว่า เพลง ซึ่งเป็นการบรรเลงทำนองของแคนจึงมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ลาย  ลายแคนที่เป็นแม่บทหรือลายหลักมี 6 ลายคือ  ลายน้อย  ลายใหญ่  ลายโป้ซ้าย  ลายสร้อย ลายเซ และลายสุดสะแนน  และยังแบ่งย่อยออกเป็นลายอื่น ๆ อีก
            สนอง  คลังพระสี (2541:142-143) ให้ความหมายของคำว่า  ลาย  สรุปได้ดังนี้
             1. ลาย  หมายถึง เพลง และ/หรือทำนองใดทำนองหนึ่ง  เช่น  ลายต้อนวัวขึ้นภู  ลายเต้ย  ลายลมพัดพร้าว  เป็นต้น
            2. ลาย  หมายถึง เพลง และ/หรือทำนองที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีแต่ละชนิด  เช่น  ลายแคน  ลายพิณ  และลายแซกโซโฟน  เป็นต้น
              3. ลาย  หมายถึงลีลาการแสดงของนักดนตรีแต่ละคน
            4. ลาย  หมายถึงทางหรือระดับเสียง (Mode) ที่ใช้บรรเลงในแต่ละบท  ทั้งนี้ยึดลายแคนเป็นหลัก  ลายแคนแต่ละลายเกิดจากการผสมเสียงของลูกแคนอย่างเป็นระบบโดยอาศัยเสียง 5 เสียงและใช้เสียงเสพ (Drone)  ซึ่งหมายถึงเสียงที่ดังอยู่ตลอดเวลาโดยไม่เปลี่ยนระดับเสียง  เป็นเสียงหลักในการจำแนกลายแต่ละลาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น