วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ลายแคนพื้นบ้านอีสาน

       ลายแคนพื้้นบ้านอีสาน

ลายแคนพื้นบ้านอีสาน เป็นลายแคนดั้งเดิมที่หมอแคนพ้ืนบ้านได้จดจำและสืบทอดต่อๆกันมาตั้งแต่ในอดีด และบางทีก็ได้มีการดัดแปลงหรือเติมแต่งทำนองให้มีลูกเล่นหรือกลเม็ดเด็ดพลายแตกต่างออกไปบ้างเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ถ้าเราฟังและสังเกตให้ดีก็จะเห็นข้อแตกต่างในการบรรเลงของหมอแคนแต่ละคน แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังคงไว้ในส่วนเหมือนกันที่เป็นแนวทำนองของลายแคนนั้นๆ นั่นคือกลุ่มเสียงหรือระดับเสียงในการเดินทำนองนั่นเอง จึงอาจกล่าวได้ว่าไม่มีทำนองใดถูกต้องที่สุดหรือดีที่สุด แต่จะอยู่ที่ความชื่นชอบหรือความถูกใจในความไพเราะของผู้ฟังเป็นสำคัญ ลายแคนพื้นบ้านอีสานจึงมีความผูกพันและสะท้อนให้เห็นสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณีและความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของกลุ่มคนในแถบลุ่มน้ำโขง(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและฝั่งซ้ายในประเทศลาวปัจจุบัน) เป็นอย่างดี จึงพอสรุปได้ว่าลายแคนพื้นบ้านอีสานเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทรงคุณค่า และมีองค์ความรู้ที่ควรรู้จักดังนี้  
        ลายแคน  คำว่า “ ลายแคน” มีผู้รู้ได้กล่าวถึงความหมายของไว้หลายอย่างด้วยกัน  ผู้เขียนขอสรุปความหมายของลายแคนไว้ดังนี้ คือ  ลายแคน หมายถึง “ทำนองเฉพาะดั้งเดิมของแคนที่มีการบรรเลงเป็นภาษาเสียงหรือสำเนียงพื้นบ้านของคนอีสาน”   ซึ่งแบ่งเป็น 2  กลุ่ม คือ
           1. กลุ่มลายแคนทางสั้น  เป็นท่วงทำนองแคนที่ใช้ประกอบการลำทางสั้นหรือลำกลอน  ท่วงทำนองจะเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันที่ระดับเสียง  มีจังหวะการบรรเลงที่เร็ว กระชับ เป็นลายแคน  ที่เป่าเพื่อแสดงถึงอารมณ์สนุกสนาน รื่นเริง  ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามระดับเสียง ดังนี้
               1.1 ระดับเสียงทุ้มใหญ่  มีชื่อเรียกว่า “ลายสุดสะแนน” ซึ่งมีความหมายว่า “สุดสายสัมพันธ์แห่งความรัก” เพราะคำว่า “สะแนน” ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า “สายแนน” แปลว่า “สายสัมพันธ์แห่งความรัก”  หรือ “บุพเพสันนิวาส”   “สุด”  หมายถึง หมด จบ สิ้น ลายสุดสะแนนใช้เสียงเสิร์ฟประสานหลัก คือ เสียงซอล
                1.2 ระดับเสียงสูงปานกลาง (สูงกว่าลายสุดสะแนน) มีชื่อเรียกว่า “ลายโป้ซ้าย” ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะว่าในขณะที่เป่าผู้เป่าจะต้องใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายปิดเสียงโดสูงเพื่อเป็นเสียงประสานหลัก (เสียง Drone) ตลอดเวลา  ซึ่งเทียบได้กับเสียงซอลของลายสุดสะแนน
                 1.3 ระดับเสียงสูงมาก มีชื่อเรียกว่า“ลายส้อย” ที่เรียกเช่นนี้เพราะคำว่า “ส้อย” ในภาษาอีสาน หมายถึง การทำให้เล็กลงโดยการฉีกให้เป็นส่วนย่อยลงไปอีก เช่น คำว่า “ส้อยฟืน”  หมายถึง ผ่าฟืน ให้เล็กลงไปอีกเพื่อความสะดวกและง่ายต่อการติดไฟ หรือคำว่า “ตองส้อย” หรือ “ส้อยตอง” หมายถึง ใบตองกล้วยซึ่งถูกลมพัดหรือถูกฉีกออกเป็นเส้นเล็กๆ ดังนั้น คำว่า “ลายส้อย” จึงหมายถึง ลายแคนที่มีเสียงเล็กแหลมสูงมากๆที่ฉีกแนวมาจากลายสุดสะแนนและลายโป้ซ้าย มีการเดินทำนองเหมือนกันกับลายทั้งสองแต่ช่วงระดับเสียงไม่ครบ 2 ช่วงทบ (จากซอลต่ำ ซอลกลาง ถึงซอลสูง) จึงถือว่าเป็นลายย่อยของลายทั้งสอง  เป็นลายที่ฉีกทางเล่นและกลเม็ดเด็ดพรายออกไปให้เป็น “ลายน้อย” ได้อีกนั่นเอง  ลายส้อย ใช้เสียง เร กับเสียง ลา เป็นเสียงประสานยืนหรือเสียงเสิร์พประสานหลัก (เสียง Drone)
                   การเป่าแคนทั้ง 3 ระดับเสียง ที่กล่าวมาถึงแม้จะมีชื่อเรียกเฉพาะ ทำให้คล้ายกับว่ามีจำนวนลายแคนมากขึ้น แต่ความในเป็นจริงแล้วลายแคนเหล่านั้นก็คือ “ลายสุดสะแนน” นั่นเอง เพียงแต่เปลี่ยนระดับเสียงแตกต่างกันไป นอกจากนี้แล้วในกลุ่มลายดังกล่าว หากมีการติดสูดหรือปิดเสียงเสิร์ฟประสานหลักผิดไปจากที่เดิมก็จะมีซื่อเรียกที่แตกต่างเพิ่มขึ้นอีก เช่น ลายโป้ซ้าย ซึ่งเดิมปิดสูดเสียงโดสูงที่หัวแม่มือซ้ายเป็นหลัก แต่ถ้าหากมีการเปลี่ยนไปปิดสูดที่เสียงโดต่ำ ในลูกที่ 2 แพขวา ก็จะเรียกว่า “ลายแมงภู่ตอมดอกไม้” เพราะจากการปิดสูดดังกล่าวจะทำให้ได้ยินเสียงเหมือนแมลงภู่กำลังบินชมดอกไม้นั่นเอง
            2.  กลุ่มลายแคนทางยาว  เป็นลายแคนที่เป่าเพื่อแสดงอารมณ์โศกเศร้า คร่ำครวญ เสียใจ เหงา หรือเปล่าเปลี่ยว เป็นการเป่าบรรยายเนื้อหาที่ค่อนข้างยาว เป็นการเป่าทางยาวที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกเหมือนจะไม่จบง่าย หรือมีลักษณะเหมือนการไหลเอื่อยของน้ำในแม่น้ำ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่ง “ลายล่อง” จังหวะการบรรเลงจะช้ากว่าลายทางสั้น มีทั้งแบบเคาะจังหวะลงตัวและแบบยืดจังหวะได้โดยอิสระ  ซึ่งประกอบด้วยการเป่า 3 ระดับเสียง ดังนี้
                 2.1 ระดับเสียงทุ้มใหญ่ มีชื่อเรียกว่า“ลายใหญ่”“ลายล่องใหญ่”หรือ“ลายอ่านหนังสือใหญ่” เพราะมีท่วงทำนองคล้ายกับการอ่านหนังสือผูก ซึ่งเป็นหนังสือโบราณที่จารึกหรือเขียนลงบนใบลาน แล้วนำมาร้อยด้วยด้ายเล็กๆ ติดกัน หนังสือมักจะมีความยาว ผู้อ่านจะอ่านด้วยทำนองค่อนข้างช้าและ  มีการเอื้อนเสียง การเป่าลายใหญ่จะใช้เสียง ลา กับเสียง มี เป็นเสียงเสิร์ฟประสานหลัก (เสียง Drone) นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในการเป่าบรรเลงเพื่อบรรยายภาพพจน์หรือสภาพของท้องถิ่น ซึ่งทำให้เกิดลายใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย เช่น ลายน้ำโตนตาด ลายลมพัดพร้าว ลายลมพัดไผ่ ลายนกไซบินข้ามทุ่ง ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายแมงภู่ตอมดอกไม้ ลายเต้ยหัวโนนตาล ลำคอนสวรรค์ ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น
                  2.2 ระดับเสียงสูงปานกลาง มีชื่อเรียกว่า“ลายน้อย” “ลายอ่านหนังสือน้อย”หรือ“ลายล่องน้อย” มีแนวทำนองเหมือนกันกับแนวทำนองของลายใหญ่ เพียงแต่มีระดับเสียงสูงกว่าลายใหญ่ คือ ระดับเสียงของลายน้อยจะตรงกับบันไดเสียง Dm  โดยใช้เสียง เร กับเสียง ลา เป็นเสียงเสิร์ฟประสาน (เสียง Drone) นำไปใช้เป่าเป็นลายประเภทการบรรยายภาพพจน์หรือเกี่ยวกับสถานที่เช่นเดียวกับลายใหญ่ และทำให้เกิดเป็นลายใหม่ เป็นลายย่อย ๆ ได้อีกมากมายเช่นเดียว กับลายใหญ่ทั้งลายใหญ่และลายน้อย มักจะเรียกว่า “ลายล่อง”  เนื่องจากใช้ประกอบการลำทางยาว ที่มักจะบรรยายความเศร้าโศก ฟังแล้วให้ความรู้ศึกว่าจะต้องบรรยายเนื้อหาที่ยาว หรือไม่สิ้นสุดง่าย  เหมือนการไหลของน้ำในแม่น้ำ ประกอบกับการเป่าลายทั้งสองจะใช้เป่าประกอบการลำล่องโขง จึงเรียกว่า “ลายล่อง” โดยปกติเมื่อมีการลำลำยาว แล้วก็จะมีการลำเต้ย โดยลำสลับกันไปด้วยเป็นช่วง ๆ จึงเรียกชื่อว่า “เต้ยโขง” หรือบางครั้งก็จะมีการลำเต้ยหลายแบบสลับกันที่เรียกว่า “เต้ยผสม” หรือ “เต้ยสาม จังหวะ” คือ เต้ยธรรมดา เต้ยพม่า เต้ยโขง
                  2.3 ระดับเสียงสูงมาก สูงกว่าลายน้อย  มีชื่อเรียกว่า “ลายเซ”  คำว่า “เซ” ในความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไปหมายถึง แม่น้ำ เข้าใจว่าน่าจะเป็นลายที่บรรยายภาพความงามของแม่น้ำ บางท้องถิ่นอาจจะเรียกว่า ลายเกี้ยว หรือ ลายเวียน คือ วกเวียนไปเหมือนการไหลของสายน้ำ การเป่าลายเซจะปิดสูดที่เสียง มีสูง และ ทีสูง ให้เป็นเสียงประสานยืน(เสียง Drone) กระสวนจังหวะและความช้าเร็วก็เหมือนกับลายใหญ่และลายน้อยทุกประการ
...........................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น