วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556

การฝึกเป่าแคนโดยฝึกใช้ลมเป่า ควบคุมการเป่าลมออกจากปาก

การฝึกเป่าแคนขั้นสูง ตอนที่ 2 การฝึกเป่าแคนโดยฝึกใช้ลมเป่า  ควบคุมการเป่าลมออกจากปาก


การฝึกใช้ลมเป่า  
                การฝึกใช้ลมเป่าในขั้นเบื้องต้นจะเป็นการฝึกเป่าแบบผ่อนลมและการเป่าตัดลม  (ส่วนการเป่าสะบัดเสียงและการเป่าอ้อนเสียงจะอธิบายเพิ่มเติมในการฝึกเป่าลายแคนในลำดับขั้นต่อไป)   การฝึกเป่าผ่อนลมและการเป่าตัดลม จะเป็นการฝึกขั้นพื้นฐาน โดยฝึกไปพร้อมๆ กันกับการฝึกไล่ระดับเสียง อาจจะเรียงจากเสียงต่ำไปยังเสียงสูง หรือเรียงจากระดับเสียงต่ำสุดของเสียงแคน(เสียงลาต่ำ)ก็ได้ซึ่งการฝึกในขั้นนี้จะเน้นจังหวะการใช้ลมเป่าให้กระชับหนักแน่น และความชัดเจนของเสียงแคนเป็นสำคัญ


การเป่าผ่อนลม

             เป็นการเป่าลมเข้าหรือดูดลมออกจากเต้าแคนเพื่อให้จังหวะของเสียงแคนยืดออกไปได้นานๆ ตามความต้องการของผู้เป่าที่จะทำให้เกิดความรู้สึกหรืออารมณ์คล้อยตามสำเนียงของเสียงแคนในลักษณะต่างๆ เช่น  ความรู้สึกเยือกเย็น  อ่อนหวาน  โศกเศร้า   ดีใจคิดถึงชื่นใจ  หรือปลื้มอกปลื้มใจ(คนอีสานเรียกว่าออนซอน) ดังนี้เป็นต้น  ซึ่งอารมณ์หรือความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้จะขึ้นอยู่กับทำนองและจุดประสงค์ของผู้เป่าเป็นสำคัญ  การฝึกเป่าผ่อนลมจะเริ่มฝึกทีละคู่เสียงพร้อมกับฝึกการใช้นิ้วปิดรูนับไปพร้อมกัน  ตามตัวอย่างนี้จะเริ่มจากเสียงลา คู่ 8 (ลฺ ล) ซึ่งเป็นเสียงต่ำสุด ดังนี้   


วิธีฝึกเป่าผ่อนลม


         ปิดรูนับเสียงลา คู่ 8 (ลฺ ล) (ตามแผนภูมิ)และทำริมฝีปากคล้ายกับจะเปล่งเสียงคำว่า “ดู” ตามวิธีที่เรียนมาแล้ว  แล้วเป่าลมเข้าให้เป็นจังหวะเดียวหรือเป็นเสียงยาวติดต่อกันไปจนสุดลมหายใจ แล้วจึงเปลี่ยนเป็นดูดลมออก โดยยังคงทำริมฝีปากคล้ายกับจะเปล่งเสียงคำว่า “ดู” เช่นเดิม ทำสลับกันไปเช่นนี้จนเกิดความเคยชิน  และพยายามจำตำแหน่งเสียงและการใช้นิ้วมือให้ได้
      สำหรับคู่เสียงอื่นๆ ที่เหลือคือ เสียงโด เร  มี  ฟา  ซอล  ที  ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการฝึกเป่าเสียงลา คู่ 8 (ลฺ ล) เพียงแต่เปลี่ยนตำแหน่งการวางนิ้วมือให้ตรงกับตำแหน่งเสียงของแต่ละคู่เสียง โดยยึดแผนภูมิแสดงตำแหน่งเสียง คู่เสียง และการวางนิ้วมือบนลูกแคนเป็นสำคัญ



การเป่าตัดลม

                      การเป่าตัดลม  เป็นการทำให้ลมที่เป่าเข้าหรือดูดออกจากเต้าแคนถูกแบ่งหรือปิดกั้นไว้เป็นช่วงสั้นๆ ตามอัตราจังหวะของตัวโน้ต หรือตามทำนองของลายแคน มีทั้งช่วงที่เป็นจังหวะหนักและช่วงที่เป็นจังหวะเบา หรือบางทีเรียกว่าเสียงหนักเสียงเบา การเป่าแคนที่มีเสียงหนักเสียงเบา เป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้เสียงแคนมีความไพเราะ โดดเด่นและหนักแน่น เพื่อให้เกิดทักษะที่ดีและง่ายต่อการฝึกปฏิบัติในระยะเริ่มแรก ควรฝึกตามรูปแบบ ดังตัวอย่างต่อไปนี้


                        การเป่าตัดลมแบบที่ 1    

                                        เป็นการเป่าตัดลมที่ทำให้เสียงแคนมีจังหวะยาว เมื่อฟังแล้วจะเหมือนกับเป็นเสียงหนักหรือเสียงยาว ซึ่งมีลักษณะการฝึกตามแบบฝึก ดังนี้


แบบฝึกที่ 1  การตัดลม



เป่าให้เป็นจังหวะยาวเท่ากับ 1  ห้องเพลง (4 จังหวะย่อย)

การใช้ลม
- - - ดู
- - - ดู
- - - ดู
- - - ดู
- - - ดู
- - - ดู
- - - ดู
- - - ดู


วิธีปฏิบัติ  ขณะที่ปิดรูนับเสียงลา คู่ 8 (ลฺ ล) ให้เปล่งลมเป่าคำว่า “ดู” ออกมาอย่างแรงและเร็วติดต่อกันเป็นช่วงๆ แต่ละช่วงนับเป็นจังหวะยาว เท่ากับ 1 ห้องเพลง และขณะที่เป่าคำว่า “ดู”  ผู้ฟังจะได้ยินเสียงคำว่า “ลา” ซึ่งมีจังหวะหนักแน่น ชัดเจน และจังหวะตกตรงกับโน้ตตัวสุดท้ายของแต่ละห้องเพลง   ให้ฝึกเป่าเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนเกิดทักษะความเคยชิน
    


แบบฝึกที่ 2  การตัดลม

เป่าโดยแบ่งลมออกเป็น 2 ช่วง (2 จังหวะย่อย)ในแต่ละห้องเพลง


การใช้ลม
- ดู - ดู
- ดู - ดู
- ดู - ดู
- ดู - ดู
- ดู - ดู
- ดู - ดู
- ดู - ดู
- ดู - ดู


 วิธีปฏิบัติ  ขณะปิดเสียงลา คู่ 8 (ลฺ ล) ให้เปล่งลมเป่าคำว่า “ดู” ออกมาอย่างแรงและเร็ว  โดยใช้ปลายลิ้นช่วยเปิดหรือปิดเพดานเพื่อแบ่งลมเป่าเป็น 2 ช่วงหรือ 2  จังหวะย่อย  ใน 1 ห้องเพลง   การเป่าคำว่า “ดู”  ครั้งที่ 2  จะตรงกับจังหวะตกของแต่ละห้องเพลง   ให้ฝึกวิธีใช้ลมเป่าเช่นนี้ จนเกิดทักษะและความเคยชิน


แบบฝึกที่ 3  การตัดลม

ฝึกแบ่งลมเป่าออกเป็น 1 จังหวะย่อย และให้จังหวะสุดท้ายของห้องซึ่งเป็นจังหวะตกยืดออกไปอีก 1 จังหวะย่อย


การใช้ลม
- ดู ดู ดู
- ดู ดู ดู
- ดู ดู ดู
- ดู ดู ดู
- ดู ดู ดู
- ดู ดู ดู
- ดู ดู ดู
- ดู ดู ดู


วิธีปฏิบัติ ขณะปิดเสียงลา คู่ 8 (ลฺ ล) ให้เปล่งลมเป่าคำว่า “ดู” ออกมาอย่างแรงและเร็ว  ติดต่อกัน 3 ครั้ง โดยใช้ปลายลิ้นช่วยเปิดหรือปิดเพดานเพื่อแบ่งลมเป่าเป็น 3 ช่วงหรือ 3 จังหวะย่อย  ใน 1 ห้องเพลง  และให้จังหวะสุดท้ายยืดออกไปอีก 1 จังหวะย่อย การเป่าคำว่า “ดู”  ครั้งที่ 3 จะตรงกับจังหวะตกของแต่ละห้องเพลง  ให้ฝึกวิธีการใช้ลมเป่าเช่นนี้จนเกิดทักษะและความเคยชิน




แบบฝึกที่ 4  การตัดลม


ฝึกแบ่งลมเป่าออกเป็น 4  จังหวะย่อย ทุกห้องเพลงอย่างต่อเนื่อง


การใช้ลม
ดู ดู ดู ดู
ดู ดู ดู ดู
ดู ดู ดู ดู
ดู ดู ดู ดู
ดู ดู ดู ดู
ดู ดู ดู ดู
ดู ดู ดู ดู
ดู ดู ดู ดู



 วิธีปฏิบัติ  ขณะปิดเสียงลา คู่ 8 (ลฺ ล) ให้เปล่งลมเป่าคำว่า “ดู” ออกมาอย่างแรงและเร็ว   ติดต่อกัน 4 ครั้ง โดยใช้ปลายลิ้นช่วยเปิดหรือปิดเพดานเพื่อแบ่งลมเป่าเป็น 4 ช่วงหรือ 4  จังหวะย่อย  ใน 1 ห้องเพลง  เป่าคำว่า “ดู” ครั้งที่ 4 จะตรงกับจังหวะตกของแต่ละห้องเพลง  ให้ฝึกวิธีการใช้ลมเป่าเช่นนี้จนเกิดทักษะและความเคยชิน



แบบฝึกที่ 5  การตัดลม

ฝึกเป่าโดยแบ่งลมเป่าเป็นหลายรูปแบบผสมผสานกันตามจังหวะทำนอง




วิธีปฏิบัติ  ขณะปิดเสียงลา คู่ 8 (ลฺ ล) ให้ใช้ลมเป่าแบบเดิมคือเป่าคำว่า “ดู”  ตามจำนวนจังหวะย่อยของแต่ละห้องเพลง ให้ฝึกหลายๆ รอบเพื่อให้เกิดทักษะและความเคยชิน


 การเป่าตัดลมแบบที่ 2      



เป็นการเป่าตัดลมที่ทำให้เสียงแคนดังเบาลงหรือผ่อนลงอย่างกระทันหันแล้วดังขึ้นมาอีกสลับกันไปเช่นนี้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว  เวลาเป่าลมเข้าให้ออมริมฝีปากห่อเข้าหากันเหมือนที่เคยปฏิบัติมาแล้ว แต่ให้เปลี่ยนวิธีเปล่งออกมาจากปาก ให้มีลักษณะคล้ายกับจะพูดคำว่า ดุดหรือ ดัด”  ด้วยการเปล่งลมออกมาให้แรงพร้อมกับรีบใช้ปลายลิ้นปิดกั้นลมไว้โดยให้ลมผ่านออกมาได้เพียงเล็กน้อยไม่ให้เสียงแคนขาดช่วงหรือหยุด ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้จะทำให้เสียงแคนที่ดังขึ้นแล้วผ่อนเบาลงอย่างกระทันหัน ให้ฝึกปฏิบัติต่อเนื่องกันเป็นช่วงสั้นๆ จนเกิดความเคยชิน เพื่อ ให้เกิดทักษะที่ดี ควรฝึกปฏิบัติตามแบบฝึกโดยเสียงลาคุ 8 (ล ล) เช่นเดียวกับการเป่าตัดลมแบบที่ 1 ที่เรียนมาแล้ว  ดังนี้ 





แบบฝึก1  การตัดลม  

ฝึกเป่าให้เป็นจังหวะเบา(ช่วงลมสั้นหรือเร็ว)



วิธีปฏิบัติ  ให้ปิดรูนับเสียงลา คุ 8 (ล ล)เหมือนที่เคยปฏิบัติมาแล้ว แต่เปลี่ยนลักษณะลมที่เปล่งออกมาให้คล้ายจะพูดคำว่า ดุดหรือ ดัดจะทำให้เสียงแคนที่ดังออกมามีความหนักเบาของทำนอง 

แบบฝึก 2  การตัดลม  

ฝึกเป่าให้มีทั้งจังหวะหนักและจังหวะเบา(ลมสั้นและลมยาว)


วิธีปฏิบัติ  ให้ปิดรูนับเสียงลา คุ 8 (ล ล)เหมือนที่เคยปฏิบัติมาแล้ว แต่เปลี่ยนลักษณะลมที่เปล่งออกมาให้คล้ายจะพูดคำว่า ดุดหรือ ดัดจะทำให้เสียงแคนที่ดังออกมามีความหนักเบาของทำนอง  จากตัวอย่างนี้ผู้ฝึกเป่าต้องนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ทำนองหลายรูปแบบทั้งลมสั้นและลมยาวตามความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง
                สำหรับระดับเสียงอื่นๆ ที่เหลือคือ เสียงโด  เร  มี  ฟา  ซอล  และเสียงที  ให้ฝึกการใช้ลมด้วยวิธีการและขั้นตอนเดียวกันนี้  โดยฝึกเป่าที่ละคู่เสียงจนครบทุกคู่เสียง  เมื่อฝึกการใช้ลมเป่าได้ดีแล้ว ในลำดับต่อไปก็จะเป็นการฝึกเป่าตามโน้ตทำนองพร้อมกับควบคุมการใช้ลมเป่าให้ถูกวิธี เพื่อให้เสียงแคนมีความไพเราะจับใจ และนำไปสู่การเป่าแคนที่ไพเราะสนุกสนานต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น