วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ลายล่องน้อย

การเป่าแคน ลายล่องน้อย หรือ อ่านหนังสือน้อย




รูปแคนลายน้อยลายล่องน้อย ที่เรียกชื่อว่า “ลายล่องน้อย” หรือ“ลายอ่านหนังสือน้อย”เพราะมีท่วงทำนอง คล้ายกับการอ่านหนังสือผูก ซึ่งเป็นหนังสือโบราณที่จารึกหรือเขียนลงบนใบลานแล้วนำมาร้อยด้วยด้ายเล็กๆ ติดกัน หนังสือนี้มักจะมีความยาวหลายๆ หน้า ผู้อ่านจะอ่านด้วยทำนองค่อนข้างช้าและมีการเอื้อนเสียง เช่นเดียวกับลายล่องใหญ่หรือลายอ่านหนังสือใหญ่เพียงแต่ระดับเสียงของทำนองสูงกว่าลายอ่านหนังสือใหญ่
             
การติดสูด
       
จะติดสูดเหมือลายน้อย คือติดที่ลูกแคนลูกที่ 7 และ  ลูกที่  แพขวา เพื่อใช้เป็นเสียงประสานยืน(เสียง Drone) หรือบางครั้งก็เรียกว่า เสียงเสิร์ฟประสานหลัก ซึ่งก็หมายถึงการประสานทำนองด้วยเสียง เร และเสียง ลาสูง เช่นเดียวกัน



ลายเต้ยผสม(ลำเต้ย)ลายน้อย

                           การเป่าแคนลายเต้ย(ลายน้อย)


               ลายเต้ย(ลายน้อย) เป็นลายแคนที่ใช้ประกอบการลำที่เรียกว่า”ลำเต้ย” เช่นเดียวกับการเต้ยในลายใหญ่ ซึ่งเป็นทำนองการลำที่แทรกอยู่ในช่วงของการลำที่เรียกว่า ”ลำล่อง“ กล่าวคือในขณะที่หมอลำกำลังล่องตามทำนองลำไปเรื่อยๆ นั้น จะมีการเต้ยสลับกลอนลำไปเป็นช่วงๆ เพื่อเพิ่มความสนุกสนานและเนื้อหาสาระของการลำ ซึ่งมี 3 แแบเช่นเดียวกับลายใหญ่ คือ เต้ยธรรมดา เต้ยโขง  และ เต้ยพม่า โดยหมอแคนต้องปิดสูดที่ลูกแคนให้เป็นลายน้อย คือติดสูดเสียง เร ลูกที่ 6 แพขวา และ เสียง ลาสูง ลูกที่ 8 แพขวา โดยปกติจะเริ่มที่การเต้ยแบบธรรมดาก่อน แล้วจึงจะเป็นเต้ยพม่าหรือเต้ยโขงสลับกันไปตามเนื้อหาสาระของการลำ ฉะนั้นหมอแคนต้องเป่าแคนประกอบการลำตามเนื้อหาทำนองที่หมอลำแสดง และบางครั้งก็จะเป็นการลำเต้ยเพื่อตอบโต้หรือคู่กันระหว่างหมอลำฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง หมอแคนก็ต้องเป่าลายแคนให้กลมกลืนกับสำเนียงลำของหมอลำทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เช่นกัน



ลายลำเพลินแก้วหน้าม้า(ลายน้อย)

 การเป่าแคน ลายลำเพลิน



             การเป่าลายลำเพลิน(ลายน้อย) แนวทำนองการบรรเลงเช่นเดียวกับลายลำเพลิน(ลายใหญ่) แต่ระดับเสียงจะต่างกัน คือ ลายน้อยจะบรรเลงในโหมดของ Dm โดยติดสูดที่เสียง เร ลุกที่ 6 แพขวา และเสียง ลาสูง ลูกที่ 8 แพขวา มีแนวทำนองการบรรเลงหลายแบบตามยุคสมัยและความนิยมในแต่ละท้องถิ่น เช่น ในยุคลำเพลินแก้วหน้าม้า ลำเพลินมะโนราห์ ลำเพลินประยุกต์(เป็นทำนองลำที่ดัดแปลงเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง) ดังนี้เป็นต้น 


ลายภู่ตอมดอก(ลายน้อย)

                    การเป่าแคนลายภู่ตอมดอก(ลายน้อย)

               ลายภู่ตอมดอก (ลายน้อย) มีความสำคัญและความเป็นมาเหมือนกันลายผู้ตอมดอก(ลายใหญ่) คือ ลายภู่ตอมดอกดั้งเดิมจริงๆแล้วเป็นลายทางสั้นที่เลียนแบบเสียงของสัตว์ ในธรรมชาติ คือ แมลงภู่ ซึ่งคนอีสานจะเรียกว่า “แมงภู่” ตัวสีน้ำเงินแก่มองดูจนขียว เวลาบินตอมดอกไม้จะมีเสียงดังหึ่งๆ วนเวียนอยู่รอบๆดอกไม้แล้วค่อยๆ บินวนเข้าวงในดอกไม้จนในที่สุดก็โฉบเอาเกสรดอกไม้ออกไป ลักษณะเสียงของแมลงภู่จะมีทำนองลีลาช้าๆ ก่อนแล้วจะเร็วกระชั้นเข้าในที่สุด หมอแคนผู้มีอารมณ์ศิลปินได้ดัดแปลงกิริยาอาการทางธรรมชาติของแมลงภู่นี้ออกมาเป็นทำนองของเสียงดนตรี โดยมุ่งเลียนแบบเสียงของหมู่แมงภู่ที่กำลังบินหึ่งๆ อยู่นอกก่อนช้าๆ แล้วค่อยกระชับเข้ามาตามลำดับ จนในที่สุดถึงจุดที่แมงภู่ขย้ำดอกไม้อย่าเมามัน  เมื่อฟังลีลาของเสียงแคนจะได้ยินเป็นเสียงเล็กเสียงน้อย มีการเล่นเสียงเป็นกรณีพิเศษให้เหมือนกับเสียงแมลงภู่ที่กำลังตอมดอกไม้จริงๆ ความละเอียดบรรจงของเสียงแคนจะเหมือนคุณลักษณะของหมู่ภมรทั้งหลายที่พยายามดูดหรือนำเอาน้ำหวานจากเกสรไปโดยไม่ให้เกิดการชอกช้ำ ความสามารถของหมอแคนในช่วงนี้จึงเปรียบเหมือนความประณีตและสมบูรณ์ด้วยศิลปะในชั้นเชิงการเคล้าเกสรของหมู่ภมรที่ฉลาดนั่นเอง ในระยะหลังต่อมาได้มีผู้นำเอาลีลาอาการของหมู่ภมรนี้ไปดัดแปลงเป็นทำนองแคนขึ้นใหม่ โดยบรรเลงเป็นแนวทำนองแบบลายทางยาวที่มีเนื้อหาคล้ายทำนองเดิม สามารถนำไปบรรเลงได้ทั้งในทำนองลายใหญ่และลายน้อย สำหรับในเนื้อหานี้จะเสนอการเป่าในแนวของลายน้อยทางยาว ดังนี้
โน้ตำนอง ลายภู่ตอมดอก (ลายน้อย)
โน้ตลายภู่ตอมดอก(ลายน้อย)



ลายลมพัดไผ่(ลายน้อย)

                                            การเป่าแคนลายลมพัดไผ่ (ลายน้อย)



รูปแคนลายน้อย
          การเป่าแคน ลายลมพัดไผ่ “ลายน้อย”  เป็นแนวทำนองเดียวกันกับลายลมพัดไผ่(ลายใหญ่) แต่ระดับเสียงของแนวทำนองจะสูงกว่าลายใหญ่ เวลาเป่าจะติดสูดที่เสียง เร ลูกที่ 6 และ เสียงลา ลูกที่ 8 แพขวา เป็นลายแคนที่เกิดจากการบรรยายภาพพจน์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสภาพวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และความผูกพันของคนกับสิ่งแวดล้อมในช่วงกาลเวลานั้นๆ เช่นเดียวกับลายใหญ่ นำไปประกอบการแสดงที่ชื่อว่า “ลำศรีโคตรบูรณ์” เช่นเดียวกัน และแนวทำนองของลายแคนอาจจะแตกต่างกันไปตามจินตนาการและการใช้ลูกเล่นหรือกลเม็ดเด็ดพลายของหมอแคนแค่ละคนที่พยายามสร้างสรรค์เสียงแคนให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน และสิ่งที่ยังคงไว้เหมือนกันคือแนวทำนองที่เป็นลายทางยาว และกลุ่มเสียงที่เป็นทำนองของคำว่า “ลายน้อย” คือใช้เสียง เร และเสียง ลาสูง เป็นเสียงประสานยืน(เสียงDrone) ตลอดแนวทำนองการบรรเลง ดังตัวอย่าง 



ลายลมพัดพร้าว(ลายน้อย)

การเป่าแคน ลายลมพัดพร้าว(ลายน้อย)


               ลายลมพัดพร้าว(ลายน้อย)  ลายลมพัดพร้าว จัดอยู่ในกลุ่มลายแคนประเภทลายบรรยายภาพพจน์ มีความสำคัญและความเป็นมาเหมือนกับลายลมพัดพร้าว(ลายใหญ่) กล่าวคือศิลปินผู้เป็นหมอแคนพื้นบ้านในอดีดได้สร้างสรรค์แนวทำนองนี้ขึ้นเพื่อสะท้อนจินตนาการให้เห็นถึงความงาม อ่อนโยน อ่อนไหว ของธรรมชาติแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชนนั้นๆในอดีด เข่น ต้นไม้ ผู้คน สัตว์ สิ่งของ แหล่งน้ำ ขนบธรรมเนียมประเพณี และสถานที่ต่างๆ แล้วนำมาร้อยเรียงและถ่ายทอดจินตนาการอันสร้างสรรค์นั้นด้วยเสียงดนตรีที่เขาชื่นชอบ นั่นคือแคนนั่นเอง เมื่อจดจำสืบทอดกันมาเป็นเวลานานก็ย่อมมีการสร้างสรรค์ทำนองให้แปลกแหวกแนวออกไปบ้างเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของหมอแคนแต่ละคน ลายแคนที่มีชื่อว่า “ลายลมพัดพร้าว” ก็มีความเป็นมาที่เกี่ยวข้อง กับสภาพแวดล้อมดังกล่าวเช่นกัน คือ ผู้ประพันธ์ทำนองนี้ต้องการถ่ายทอดเจตนารมย์ไปสู่ผู้ฟังตามจินตนาการของตนเพื่อให้เห็นความงามหรือความไพเราะและเยือกเย็นของสายลมที่กำลังพัดใบมะพร้าวโอนเอนอ่อนไหวไปมาช้าๆเนิบนาบ ได้ยินเสียงสายลทที่พัดใบมะพร้าวปลิวสะบัดคล้ายลีลาเสียงดนตรีที่มีความไพเราะ จึงเรียกชื่อว่า “ลายลมพัดพร้าว“นอกจากนี้ในปัจจุบันยังได้นำเอาลายลมพัดพร้าวไปบรรเลงประกอบการแสดงที่เรียกว่า “รำภูไทสามเผ่า”  ด้วย ซึ่งมีแนวทำนองที่บรรเลงเป็นลายน้อย ดังนี้                



ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก(ลายน้อย)

                                              การเป่าแคน ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก(ลายน้อย)


                  ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก(ลายน้อย)  เป็นลายแคนหมอแคนพื้นบ้านในอดีดได้พัฒนามาจากเพลงกล่อมเด็กของคนอีสานในสมัยก่อน(ย้อนเวลากลับไปหลัง 40-50 ปีมาแล้ว) คนอีสานสมัยก่อนเวลาให้ลูกนอนเปลจะเรียกว่า “นอนอู่”ซึ่งเป็นสำเนียงภาษาอีสาน ขณะที่กล่อมลูกนอนผู้เป็นแม่ เป็นยาย หรือ ผู้ที่มีอายุมาก(ในยุคนั้น) ก็จะร้องเป็นทำนองบทกล่อมของคนอีสาน ดังบทกล่อมบางตอน  ที่ว่า “นอนสาล่า บุดตาแม่สิก่อม นอนอู่แก้วสาแล้วแม่สิกวย อื่อ อื้อ แม่ไปไฮหมกไข่มาหา แม่ไปนาหมกปลามาป้อน แม่ไปส่อนหมกฮวกมาหา …….” ซึ่งกล่อมเป็นทำนองสำเนียงภาษาพูดของคนอีสานจากนั้นไม่นานเด็กที่นอนในอู่ก็จะเคลิ้มหลับไป ซึ่งบทกล่อมอันเยือกเย็นนี้เองเป็นแนวทางให้ศิลปินผู้มีอารมณ์ศิลป์ในยุคสมัยนั้นนำทำนองบทกล่อมนี้มาร้อยเรียงเป็นเสียงดนตรี โดยมีเจตนารมย์ที่จะบรรยายให้เห็นถึงสภาพหญิงม้ายที่ต้องทนต่อความทุกข์ยากลำบากในการเลี้ยงดูลูกและการทำมาหากินโดยลำพังคนเดียว ลายแม่ฮ้างกล่อมลูกนำมาบรรเลงเป็นลายแคนลายน้อยทางยาว ได้ดังนี้
โน้ตทำนอง ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก (ลายน้อย)
โน้ตลายแม่ฮ้างกล่อมลูก(ลายน้อย)