ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการฝึกเป่าลายแคน
การฝึกเป่าลายแคน ในอดีตกาลที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีหมอแคนที่มีชื่อเสียงซึ่ง เป็นบรมครูแห่งเสียงแคน เป็นผู้ที่มีความสามารถในการเป่าแคนได้อย่างไพเราะ ยังมีอยู่จำนวนมากกระจายอยู่ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมทั้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งบูรพาจารย์ เหล่านั้นส่วนหนึ่งก็ได้กลับบ้านเก่ากันไปหมดแล้ว คงเหลือทิ้งไว้แต่ลายแคนอันแสนไพเราะเพราะพริ้งไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าแห่งวัฒนธรรมดนตรีของคนอีสาน เก็บไว้ให้บูรพาจารย์ผู้เป็นหมอแคนที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้จดจำและสืบทอดเป็นสำเนียงเสียงสวรรค์ที่ชื่อว่า “ลายแคน” เพื่อให้ลูกหลานไทยผู้มีใจรักในดนตรีแคนได้ฝึกฝนเรียนรู้สืบไป ผู้เขียนในฐานะที่เป็นคนอีสานจึงขอเชิดชูบูชาบูรพาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้นด้วยความเคารพยิ่ง และขอนำเอามรดกทางวัฒนธรรมนี้มาเผยแพร่แก่เยาวชนผู้สนใจได้ฝึกหัดเรียนรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยและชาวโลกสืบไป
เริ่มต้นฝึกเป่าลายแคน การสาธิตและเผยแพร่ลายแคนครั้งนี้ ผู้เขียนได้ใช้แนวทำนองลายแคนจากครูแคนชื่อดังของเมืองไทยท่านหนึ่ง ชื่อ“ครูทองคำ ไทยกล้า” ซึ่งอดีตท่านเป็นครูภูมิปัญญาไทย และเป็นวิทยากรพิเศษอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ท่านเล่าให้ฟังว่าได้ฝึกเป่าแคนตั้งแต่อายุ 18 ปี โดยไปฝึกกับครูแคนที่ประเทศลาว ประมาณปี พ.ศ. 2500 ด้วยการช่วยงานทำนาทำไร่เป็นค่าตอบแทน(ค่าเล่าเรียน)สำหรับครูแคน เมื่อเรียนจบแล้ว ก็ได้เที่ยวแสดงในงานต่างๆ เรื่อยมา จนกระทั่งประเทศลาวได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้เดินทางกลับประเทศไทย และสุดท้ายก็ได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษของวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ผู้เขียนได้เรียนการเป่าแคนจาก “ครูทองคำ ไทยกล้า” ตั้งแต่อายุยังหนุ่ม ท่านได้สอนเป่าแคน ลายแคน และแนวทางในการถ่ายทอดความรู้ไว้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นเพื่อเป็นการบูชาพระคุณของบูรพาจารย์ทั้งหลาย ผู้เขียนจึงขอนำลายแคนที่ได้รับการฝึกฝนมาถ่ายทอดเป็นวิทยาทานแก่เยาวชนและผู้สนใจทั่วไปเรียนรู้ตามลำดับขั้น ดังนี้ ลายแคนพื้นบ้านอีสาน เป็นลายแคนที่มีทำนองยังคงเป็นแบบดั้งเดิมที่หมอแคนในอดีตได้จดจำและเป่าสืบทอดกันมาทั้งลายแคนทางสั้นและลายแคนทางยาว ซึ่งแต่ละลายก็จะแบ่งออกเป็นลายย่อยๆ อีกมากมาย การฝึกเป่าแคนอาจเริ่มต้นการฝึกได้หลายแบบ เช่น อาจจะเริ่มฝึกเป่าไล่ระดับเสียงในขั้นพื้นฐานก่อน เมื่อมีพื้นฐานดีแล้วจึงเริ่มฝึกเป่าลายแคนที่ยากขึ้น
สำหรับการเป่าลายแคนพื้นบ้านอีสาน ท่านผู้รู้ผู้เป็นบูรพาจารย์ด้านการเป่าแคนทั้งหลายได้ให้ข้อคิดไว้ว่า “การฝึกเป่าแคนถ้าจะฝึกเป่าให้ได้ดี มีเสียงแคนและทำนองแคนที่ไพเราะนั้นจะต้องเริ่มฝึกลายแคนที่เป็นลายแม่บทก่อน เมื่อได้ลายแคนที่เป็นแม่บทแล้วจะไปฝึกลายอื่นๆก็จะง่าย” ผู้เขียนได้วิเคราะห์ข้อคิดนี้แล้วเห็นว่าเป็นการนำไปสู่วิธีการฝึกปฏิบัติที่ถูกต้อง จากการสังเกตการฝึกเป่าแคนของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ที่ได้รับการส่งเสริมในสถาบันการศึกษาทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นการเป่าตามโน้ต เพลง โดยแยกฝึกเป่าลายที่บรรยายภาพพจน์โดยใช้ทำนองแคนลายใหญ่ หรือบางทีก็ใช้ทำนองแคนลายน้อยอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว จึงเป็น การฝึกใช้นิ้วมือที่ไม่ครบทุกเสียงในทำนองลายเดียวกัน จึงทำให้เกิดปัญหา เช่น ถ้าผู้เป่าเคยชินกับการเป่าลายน้อยก็จะไม่ถนัดในการเป่าลายใหญ่ หรือคนที่เคยชินกับการเป่าลายใหญ่ก็จะไม่ถนัดในการเป่าลายน้อย ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้นเพื่อให้ผู้ฝึกเป่ามีทักษะที่ดีในการเป่าแคน ผู้เขียนจึงนำเสนอการฝึกเป่าแคนตามแนวทางของหมอแคนรุ่นบรมครูทั้งหลายที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา คือ ให้ฝึกลาย “สุดสะแนน” ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะหมอแคนทั้งหลายจะถือว่า “ลายสุดสะแนน” เป็นลายเอก ลายหลัก ลายครู หรือลายแม่บท และยังเป็นลายพื้นฐานที่ดีได้อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องลายสุดสะแนนเป็นลายที่มีจังหวะลีลาและทำนองที่หลากหลาย สามารถฝึกเป่าลายนี้ได้ทั้งผู้เริ่มฝึกใหม่ ตั้งแต่การใช้เสียง 2 เสียงนำมาเรียงปะติดต่อกันเป็นลีลาจังหวะต่างๆ จนถึงการใช้เสียงครบทั้ง 7 เสียงที่มีในเสียงแคน โดยลีลาทำนองของลายสุดสะแนนจะไม่มีที่สิ้นสุด กล่าวคือ ผู้เป่าสามารถสร้างสรรค์ลีลา จังหวะ ทำนอง ได้ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างหลากหลาย นั่นเอง
สำหรับการเป่าลายแคนพื้นบ้านอีสาน ท่านผู้รู้ผู้เป็นบูรพาจารย์ด้านการเป่าแคนทั้งหลายได้ให้ข้อคิดไว้ว่า “การฝึกเป่าแคนถ้าจะฝึกเป่าให้ได้ดี มีเสียงแคนและทำนองแคนที่ไพเราะนั้นจะต้องเริ่มฝึกลายแคนที่เป็นลายแม่บทก่อน เมื่อได้ลายแคนที่เป็นแม่บทแล้วจะไปฝึกลายอื่นๆก็จะง่าย” ผู้เขียนได้วิเคราะห์ข้อคิดนี้แล้วเห็นว่าเป็นการนำไปสู่วิธีการฝึกปฏิบัติที่ถูกต้อง จากการสังเกตการฝึกเป่าแคนของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ที่ได้รับการส่งเสริมในสถาบันการศึกษาทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นการเป่าตามโน้ต เพลง โดยแยกฝึกเป่าลายที่บรรยายภาพพจน์โดยใช้ทำนองแคนลายใหญ่ หรือบางทีก็ใช้ทำนองแคนลายน้อยอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว จึงเป็น การฝึกใช้นิ้วมือที่ไม่ครบทุกเสียงในทำนองลายเดียวกัน จึงทำให้เกิดปัญหา เช่น ถ้าผู้เป่าเคยชินกับการเป่าลายน้อยก็จะไม่ถนัดในการเป่าลายใหญ่ หรือคนที่เคยชินกับการเป่าลายใหญ่ก็จะไม่ถนัดในการเป่าลายน้อย ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้นเพื่อให้ผู้ฝึกเป่ามีทักษะที่ดีในการเป่าแคน ผู้เขียนจึงนำเสนอการฝึกเป่าแคนตามแนวทางของหมอแคนรุ่นบรมครูทั้งหลายที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา คือ ให้ฝึกลาย “สุดสะแนน” ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะหมอแคนทั้งหลายจะถือว่า “ลายสุดสะแนน” เป็นลายเอก ลายหลัก ลายครู หรือลายแม่บท และยังเป็นลายพื้นฐานที่ดีได้อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องลายสุดสะแนนเป็นลายที่มีจังหวะลีลาและทำนองที่หลากหลาย สามารถฝึกเป่าลายนี้ได้ทั้งผู้เริ่มฝึกใหม่ ตั้งแต่การใช้เสียง 2 เสียงนำมาเรียงปะติดต่อกันเป็นลีลาจังหวะต่างๆ จนถึงการใช้เสียงครบทั้ง 7 เสียงที่มีในเสียงแคน โดยลีลาทำนองของลายสุดสะแนนจะไม่มีที่สิ้นสุด กล่าวคือ ผู้เป่าสามารถสร้างสรรค์ลีลา จังหวะ ทำนอง ได้ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างหลากหลาย นั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น